หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน






ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  พระบูชา
  พระเหรียญ
  พระผง
  เครื่องราง
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    พระภัททากัจจานาเถรี

    Image

    พระภัททากัจจานาเถรี
    เอตทัคคะในทางผู้ทรงอภิญญา


    คำว่าได้อภิญญาใหญ่นั้น หมายถึงพระสาวกผู้ที่ได้อภิญญาและสามารถระลึกชาติได้อสงไขยหนึ่งกับอีกแสนกัป ในขณะที่พระสาวกผู้ที่มิได้อภิญญาใหญ่นั้นสามารถระลึกชาติได้ไม่เกินแสนกัปเท่านั้น ในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ใดพระองค์หนึ่งนั้น จะมีผู้ที่สำเร็จอภิญญาใหญ่ได้เพียง ๔ ท่านเท่านั้น ในสมัยของพระพุทธเจ้าของพวกเรานี้ ผู้ที่สำเร็จอภิญญาใหญ่ ๔ ท่านนั้นก็คือ คือ พระสารีบุตรเถระ พระมหาโมคคัลลานะเถระ พระพากุลเถระ และพระนางภัททากัจจานาเถรี (พระนางยโสธราพิมพา) สามารถระลึกชาติได้ประมาณเท่านี้

    พระภัททากัจจานาเถรีผู้ได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดาให้เป็นยอดของภิกษุณีทั้งหลายผู้ได้บรรลุอภิญญาใหญ่ ก็โดยเหตุ ๒ ประการ คือโดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ เพราะท่านแสดงให้ผู้อื่นเห็นเป็นอย่างชัดเจนในคุณข้อนี้ของท่าน และไม่เพียงเนื่องจากเหตุข้อนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นการแต่งตั้งโดยเหตุที่ท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปนี้


    ๐ ตั้งความปรารถนาไว้ในอดีต

    แม้พระนางนั้น ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ถือเอาปฏิสนธิในเรือนสกุล กรุงหังสวดี ในกาลต่อมาฟังธรรมกถาของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุณีรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศ ของเหล่าภิกษุณีสาวิกาผู้บรรลุอภิญญาอย่างใหญ่ จึงทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้น ไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น นางเวียนว่ายตายเกิดในเทวดาและมนุษยโลก ตลอดแสนกัป

    Image

    ๐ มาเป็นราชธิดาในโกลิยวงศ์ในสมัยพระโคตมพุทธเจ้า

    ในสมัยพระพุทธเจ้าของเรานี้ ท่านได้มาปฏิสนธิในโกลิยวงศ์ เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะ และพระนางอมิตาเทวี แห่งกรุงเทวทหะ มีพระเชษฐาคือ พระเทวทัต ในเวลาขนานพระนาม พระประยูรญาติก็ได้เฉลิมพระนามว่า ภัททากัจจานา ก็เพราะผิวพรรณ แห่งสรีระของพระนางนั้นเป็นเหมือนทองคำชั้นดีที่สุด

    พระนางทรงประสูติในวันเดียวกับที่เจ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร โอรสแห่งพระนางสิริมหามายา (ผู้เป็นพระน้องนางของพระเจ้าสุปปพุทธะ) และพระเจ้าสุทโธทนะแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงมีพระประสูติกาล นับเป็น ๑ ใน ๗ อย่างที่มีกำเนิดพร้อมกันกับพระโพธิสัตว์ คือ ๑ โพธิพฤกษ์ ๒ พระนางภัททากัจจานาราหุลมารดา ๓ ขุมทรัพย์ทั้ง ๔ แห่ง ๔ ม้ากัณฐกะ ๕ พระอานนท์ ๖ นายฉันทะ และ ๗ พระกาฬุทายี ทั้ง ๗ อย่างนี้ถือได้ว่าเป็นสหชาติกับพระโพธิสัตว์ เพราะเกิดในวันเดียวกัน

    เมื่อเติบใหญ่แล้วพระนางทรงมีความงามอย่างยิ่ง แม้กระทั่ง พระนางรูปนันทา ซึ่งทรงความงามอย่างยิ่งจนได้สมญาว่า ชนบทกัลยาณี ก็ยังงามไม่เทียบเทียม

    เมื่อราชกุมาร และราชกุมารี ทั้งสองเติบใหญ่จนพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา ก็ได้ทรงอภิเศกสมรสกัน ด้วยมีความเหมาะสมทั้ง ชาติวุฒิ และ วัยวุฒิ ครั้นเมื่อมีพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา พระนางก็ทรงพระครรภ์ เมื่อครบกำหนดแล้วในวันที่จะมีพระประสูติกาลพระโอรสนั่นเอง เจ้าชายสิทธัตถะก็ทรงออกประพาสเมือง ทรงเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ และคนตายก็บังเกิดความสังเวช เบื่อหน่ายในโลกียวิสัยมีความปรารถนาจะออกบวช ในคืนนั้นเองเจ้าชายสิทธัตถะจึงได้ทรงออกมหาภิเนษกรมน์


    ๐ ทรงปฏิบัติพระองค์เอาอย่างพระสวามี

    แม้ว่าเจ้าชายสิทธัตถะจะได้ทรงออกจากพระราชวังในนครกบิลพัสดุ์ไปแล้ว แต่พระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดาและพระญาติพระวงศ์ต่างก็คอยติดตามข่าวคราวของเจ้าชายสิทธัตถะอยู่เสมอ ในส่วนของพระราชานั้น ครั้งหนึ่ง ในคราวที่พระผู้มีพระภาคทรงทำทุกรกิริยา ก่อนที่จะทรงตรัสรู้นั้น เทวดาตนหนึ่งเข้ามาหาพระเจ้าสุทโธทนะแล้วกล่าวว่า พระโอรสของพระองค์สวรรคตแล้ว แต่พระเจ้าสุทโธทนะไม่เชื่อคำของเทวดานั้น ได้ทรงยืนยันความเชื่อของพระองค์ต่อเทวดานั้นว่า “บุตรของเรา ยังไม่บรรลุพระสัมโพธิญาณจะยังไม่ตาย“ ดังนี้

    ในส่วนของพระนางภัททากัจจานา นั้นด้วยความรักและความนับถือเป็นอย่างยิ่งในพระสวามี เมื่อท่านได้ฟังข่าวว่า พระสวามีทรงนุ่งห่มผ้ากาสาวะ ตั้งแต่นั้นก็ทรงผ้ากาสาวะบ้าง ได้สดับว่าพรสวามีเสวยภัตหนเดียว ก็เสวยภัตหนเดียวบ้าง ทรงสดับว่าพระองค์ทรงละที่นั่งที่นอนใหญ่ ก็ทรงบรรทมเฉพาะบนเตียงน้อยอันขึงด้วยแผ่นผ้า ทรงทราบว่าพระองค์ทรงละเว้นจากของหอมมีดอกไม้เป็นต้น ก็ทรงงดเว้นดอกไม้และของหอมบ้าง ดังนี้เป็นต้น ได้ทรงปฏิบัติเช่นนี้ จนเจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุพระโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระอนุตรสัมมาสัมพุทธเจ้า


    ๐ พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระศาสนา

    ครั้นตรัสรู้แล้ว พระพุทธองค์ได้เสด็จไปยังป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ได้ทรงแสดง พระธรรมจักรกับกัปปวัตนะสูตร โปรดภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ต่อมา ทรงแสดงอนุปทาพิกถาโปรดกุลบุตรชื่อ “ยสะ“ ซึ่งเป็นบุตรเศรษฐี ชาวเมืองพาราณสีให้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ต่อแต่นั้นมา ๒ - ๓ วัน ทรงแสดงธรรมโปรดสหายของท่านยสะทั้ง ๕๔ คน ให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

    จากนั้นก็ได้ส่งพระสาวกทั้งหลายออกไปประกาศพระศาสนา ส่วนพระองค์เองได้เสด็จไปยังตำบลอุรุเวลา กรุงราชคฤห์ ระหว่างทางได้ทรงพบชายหนุ่มจำนวน ๓๐ คน เป็นสหายกันเรียกว่า ภัททวัคคีย์ ทรงแสดงธรรมโปรดให้บรรลุมรรคผล ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา แล้วทรงส่งไป ประกาศพระพุทธศาสนาทั้ง ๓๐ องค์

    ตอนบ่ายวันนั้นพระพุทธองค์ก็เสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ณ ตำบลนี้พระองค์ได้ทรงโปรดชฎิล ๓ พี่น้องและบริวารทั้ง ๑,๐๐๐ รูปให้ได้บรรลุมรรคผล สำเร็จในพระ อรหันต์ทั้งหมด

    จากนั้นพระพุทธองค์ได้ทรงพาพระอรหันต์ผู้เป็นชฎิลจำนวน ๑,๐๐๐ รูป นั้นเสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ นครหลวงแห่งแคว้นมคธ เพื่อแสดงธรรมโปรดพระเจ้าพิมพิสาร ตามที่ได้ทรงให้ปฏิญญาไว้เมื่อก่อนที่จะทรงตรัสรู้ พระเจ้าพิมพิสารทรงมีพระราชศรัทธาถวายพระเวฬุวัน นับเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา

    ต่อมาถึง วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนมาฆะ (เดือน ๓) พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรด ปริพาชกซึ่งเป็นสหายกัน ๒ คน คือ อุปติสสะ และ โกลิตะ พร้อมทั้งบริวารรวมทั้งตัวเองด้วยจำนวน ๒๕๐ คน ที่พระเวฬุวันวิหาร ประทานเอหิภิกขุสัมปทาถ้วนทุกคน ปริพาชกที่เป็นบริวารได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั่วทุกคน ส่วนอุปติสสะและโกลิตะผู้เป็นหัวหน้ายังมิได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันนั้น แต่ต่อมาไม่นานก็ได้บำเพ็ญเพียรจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ภายหลังพระพุทธองค์ทรงยกย่องพระอุปติสสะ เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา คือ พระสารีบุตรอัครสาวก ยกย่องพระโกลิตะเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้าย คือ พระมหาโมคคัลลานะอัครสาวก

    หลังจากที่ได้ทรงเปิดประชุมจาตุรงคสันนิบาต ในตอนบ่ายแห่งวันเพ็ญเดือนมาฆะ และทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ต่อพระสงฆ์อรหันต์สาวกจำนวน ๑,๒๕๐ องค์ในที่ประชุมนั้นแล้ว ต่อจากนั้นมา พระพุทธองค์ได้ทรงส่งพระอริยสาวกจำนวน ๑,๒๕๐ องค์นั้นออกไปประกาศพระพุทธศาสนา


    ๐ พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบข่าว

    กิตติศัพท์ได้เลื่องลือไปถึงกรุงกบิลพัสดุ์ว่า พระพุทธองค์เมื่อได้ตรัสรู้แล้ว และได้เสด็จจารึกโปรดเวไนยชนให้เลื่อมใสออกบวชเป็นพระสงฆ์ และเป็นอุบาสกอุบาสิกาจนได้สำเร็จมรรคผลเป็นจำนวนมาก และขณะนี้กำลังประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ

    พระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดาทรงทราบกิตติศัพท์นั้นแล้ว จึงทรงส่งทูตมาทูลอาราธนาพระพุทธองค์ให้เสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์ คณะทูตทั้งหมดเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เลื่อมใส ขอบวชเป็นพระภิกษุและสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทุกองค์ พระเจ้าสุทโธทนะได้ส่งทูตมาอย่างนี้อีก ๘ ครั้ง ทุกครั้งก็เป็นเช่นเดิมคือคณะทูตทั้งหมดออกบวชและสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด และไม่มีผู้ใดทูลอาราธนาพระพุทธองค์ให้เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ พระพุทธองค์จึงยังมิได้เสด็จ ต่อมา ย่างเข้าปีที่ ๒ นับแต่ตรัสรู้ พระเจ้าสุทโธทนะ จึงทรงส่งทูตมาอาราธนาอีก โดยทรงมอบให้กาฬุทายีอำมาตย์เป็นหัวหน้าคณะทูตที่มาคราวนี้ก็ได้บวชเป็นพระสงฆ์ และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งคณะ

    ครั้นย่างเข้าฤดูร้อน พระกาฬุทายีจึงทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ตามคำอาราธนาของพระพุทธบิดา พระพุทธองค์พร้อมพระอริยสงฆ์จำนวน ๒ หมื่นรูป จึงได้เสด็จไปโดยมีพระกาฬุทายี เป็นผู้นำทางเสด็จดำเนินเป็นเวลา ๖๐ วันก็ถึงกรุงกบิลพัสดุ์ประทับอยู่ที่นิโครธรามใกล้ป่ามหาวันซึ่งพระญาติจัดไว้ถวาย ได้ทรงแสดงเวสสันดรชาดกโปรดพระประยูรญาติให้เลื่อมใส แล้วพระญาติพระวงศ์ต่างก็ลาเสด็จกลับโดยไม่มีแม้แต่พระองค์เดียวที่จะนิมนต์พระผู้มีพระภาคเพื่อรับบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้น

    Image

    ๐ พระผู้มีพระภาคเสด็จออกบิณฑบาตภายในกรุงกบิลพัสดุ์

    วันรุ่งขึ้น พระศาสดาทรงแวดล้อมด้วยภิกษุสองหมื่นองค์ เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงกบิลพัสดุ์ มหาชนก็เล่าลือกันว่า ได้ยินว่า สิทธัตถราชกุมาร เที่ยวเดินไปตามบ้านต่าง ๆ เพื่อขอข้าว พระนางภัททากัจจานาได้ยินข่าวดังนั้นก็ทรงพระดำริว่า แต่ก่อน พระลูกเจ้าเสด็จเที่ยวไปด้วยวอทองอย่างยิ่งใหญ่ในพระนครนี้แหละ บัดนี้ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ถือบาตรเที่ยวไปเพื่อขอข้าว จะงามหรือหนอ จึงทรงเปิดสีหสัญชรทอดพระเนตรดูอยู่ ก็ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเสด็จพระดำเนินไปตามถนน จึงเสด็จไปกราบทูลแด่พระเจ้าสุทโธทนะว่า พระโอรสของพระองค์เสด็จเที่ยวไปตามบ้านเรือนเพื่อขอข้าว

    พระราชาทรงสลดพระทัย ทรงเสด็จออกไปโดยเร็ว ประทับยืนเบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วตรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงกระทำหม่อมฉันให้ได้อาย เพื่ออะไร จึงเสด็จเที่ยวไปเพื่อก้อนข้าว ทำไมพระองค์จึงกระทำความสำคัญว่า ภิกษุทั้งหลายมีประมาณเท่านี้ไม่อาจได้ภัตตาหาร

    พระศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร อันนี้เป็นวงศ์ เป็นจารีตของอาตมภาพ

    พระราชาตรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันทั้งหลายมีวงศ์เป็นกษัตริย์มหาสมมตราชมิใช่หรือ ก็ในวงศ์กษัตริย์มหาสมมตราชนั้น แม้กษัตริย์พระองค์หนึ่งชื่อว่าเที่ยวไปเพื่อภิกขาจาร ย่อมไม่มี

    พระศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร ชื่อว่าวงศ์นี้เป็นวงศ์ของพระองค์ แต่ชื่อว่าพุทธวงศ์นี้ คือ พระทีปังกร พระโกณฑัญญะ พระกัสสปะ เป็นวงศ์ของอาตมภาพ และพระพุทธเจ้าอื่น ๆ นับได้หลายพันได้สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยการภิกขาจารเท่านั้น

    ประทับยืนในระหว่างถนนนั้นแล ตรัสพระคาถาบทหนึ่ง เมื่อสิ้นพระคาถานั้น พระราชาดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วทรงรับบาตรของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงนิมนต์ให้เสด็จขึ้นสู่มหาปราสาท ทรงอังคาสด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต ในเวลาเสร็จภัตกิจ นางสนมทั้งปวงยกเว้นพระนางภัททากัจจานาพากันมาถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า


    ๐ พระนางภัททากัจจานาบรรลุพระโสดาบัน

    ก็พระนางนั้น แม้นางพระกำนัลทั้งหลายจะกล่าวทูลเชิญให้เสด็จไปถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ก็ตรัสว่า ถ้าคุณของเรามีอยู่ไซร้ พระลูกเจ้าจักเสด็จมายังสำนักของเราด้วยพระองค์เองทีเดียว เราจักถวายบังคมพระลูกเจ้านั้นผู้เสด็จมาเท่านั้น ครั้นตรัสดังนี้แล้ว ก็มิได้เสด็จไป

    พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้พระราชาถือบาตรแล้วเสด็จไปยังที่ประทับของพระนางภัททากัจจานา พร้อมกับพระอัครสาวกทั้งสองแล้วตรัสกับพระอัครสาวกทั้งสองว่า เมื่อพระนางภัททากัจจานามาถวายบังคม พึงปล่อยให้พระนางกระทำตามชอบใจ ไม่พึงกล่าวคำอะไร ๆ แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ พระนางภัททากัจจานาเสด็จมาโดยเร็ว จับข้อพระบาททั้งสอง เกลือกพระเศียรบนหลังพระบาท ถวายบังคมตามพระอัธยาศัย

    พระเจ้าสุทโธทนะตรัสความที่พระนางภัททากัจจานามีความรักและความนับถืออย่างยิ่งในพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นอเนกประการ พระศาสดาตรัสว่า แม้ในอดีตชาติ พระนางภัททากัจจานาก็ทรงเป็นดังนั้น แล้วทรงตรัสเล่าจันทกินรีชาดก เมื่อจบชาดกนั้น พระนางทรงบรรลุโสดาปัตติผล แล้วพระผู้มีพระภาคลุกจากอาสนะเสด็จกลับไป


    ๐ พระนางให้พระโอรสทูลขอทรัพย์มรดกต่อพระพุทธองค์

    ในวันที่ ๗ พระนางภัททากัจจานา ส่งพระราหุลราชกุมารไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้มีพระเสาวนีแก่ราหุลกุมารว่า ดูกรราหุล พระสมณะนั้นเป็นบิดาของเจ้า เจ้าจงไปทูลขอทรัพย์มรดกต่อพระองค์ ราหุลกุมารจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นถึงแล้วได้ประทับยืนเบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ก็บังเกิดความรักต่อพระบิดา มีจิตใจร่าเริงนัก แล้วได้ยืนตรัสถ้อยคำอันสมควรแก่พระองค์เป็นอันมาก

    พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำภัตกิจแล้วทรงกระทำอนุโมทนา แล้วเสด็จลุกจากอาสนะหลีกไป ราหุลกุมารจึงได้ตามเสด็จพระผู้มีพระภาคไปเบื้องหลัง พลางทูลขอว่า ข้าแต่พระสมณะ ขอได้โปรดประทานทรัพย์มรดกแก่หม่อมฉัน ข้าแต่พระสมณะ ขอได้โปรดประทานทรัพย์มรดกแก่หม่อมฉัน

    เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงให้พระกุมารกลับ เหล่าข้าราชบริพารผู้ติดตามพระกุมารจึงไม่อาจที่จะให้พระกุมารผู้เสด็จไปพร้อมกับพระผู้มีพระภาคเจ้ากลับได้ พระกุมารนั้นจึงได้เสด็จไปยังพระอารามพร้อมกับพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยประการดังนี้

    พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดำเนินไป ทรงพระดำริว่า กุมารนี้ปรารถนาทรัพย์อันเป็นของบิดาซึ่งเป็นไปตามวัฏฏะ มีความคับแค้น เอาเถอะ เราจะให้อริยทรัพย์ ๗ ประการซึ่งเราได้เฉพาะที่โพธิมัณฑ์แก่กุมารนี้ เราจะกระทำให้กุมารนี้เป็นเจ้าของทรัพย์มรดกอันเป็นโลกุตระ แล้วตรัสเรียกท่านพระสารีบุตรมาว่า สารีบุตร เธอจงให้ราหุลกุมารบวช

    ครั้งนั้นแล พระสารีบุตรผู้มีอายุ ยังพระราหุลกุมารให้ผนวชแล้ว โดยพระมหาโมคคัลลานเถระปลงพระเกศาของพระกุมารแล้วถวายผ้ากาสายะ พระสารีบุตรได้ถวายสรณะ พระมหากัสสปเถระได้เป็นโอวาทาจารย์


    ๐ พระนางภัททากัจจานาทรงพรรพชาเป็นพระภิกษุณี

    ต่อมาเมื่อ พระเจ้าสุทโธทนมหาราช ทรงบรรลุพระอรหัตภายใต้เศวตฉัตรและปรินิพพานแล้ว พระนางมหาปชาบดีโคตมี พร้อมกับมาตุคาม ๕๐๐ นาง ก็ทูลขอบรรพชาในสำนักของพระศาสดา หลังจากที่พระนางมหาปชาบดีโคตมีบรรพชาแล้ว พระนางภัททากัจจานา ก็ทรงดำริว่า พระเจ้าสุทโธทนมหาราชก็สวรรคตไปแล้ว พระสวามีก็ทรงออกบวชไปแล้ว ราหุลราชกุมารก็บรรพชาไปแล้ว พระญาติพระวงศ์ต่างก็ทรงผนวชตามเสด็จไปเป็นอันมาก บัดนี้ไม่เหลือกิจอันใดที่จะต้องทรงทำในพระราชวังแล้ว ดังนั้นพระนางจึงได้เสด็จไปยังสำนักแห่งพระนางปชาบดีเถรี และทูลขอบวช พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรีก็ทรงบวชให้ตามพระประสงค์

    ครั้นเมื่อบวชแล้วก็ทรงบำเพ็ญเพียร เจริญวิปัสสนา ยังไม่ทันถึงครึ่งเดือนก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ช่ำชองชำนาญในอภิญญาทั้งหลาย เป็นหนึ่งในสี่พระอริยสาวกผู้ได้อภิญญาใหญ่ ในสมัยพระพุทธเจ้าของเรานี้ โดยในระหว่างสมัยของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งนั้น จะมีอริยสาวกที่ได้อภิญญาใหญ่ได้เพียง ๔ ท่าน ซึ่ง ๔ ท่านนั้นในสมัยของพระโคตมพุทธเจ้าก็คือ พระสารีบุตรเถระ พระมหาโมคคัลลานะเถระ พระพากุลเถระ และพระนางภัททากัจจานาเถรี (พระนางยโสธราพิมพา)นี้ โดยพระอริยสาวกผู้ได้อภิญญาใหญ่นั้น จะสามารถระลึกชาติได้ถึง อสงไขยหนึ่งกับอีกแสนกัป โดยการระลึกถึงครั้งเดียว ส่วนผู้ได้อภิญญาปกตินั้นจะระลึกได้ไม่เกินแสนกัป


    ๐ ทรงแต่งตั้งเป็นเอตทัคคะผู้ได้บรรลุอภิญญาใหญ่

    ภายหลัง พระศาสดาประทับนั่ง ณ พระเชตวันวิหาร เมื่อทรงสถาปนาพวก ภิกษุณีไว้ในตำแหน่งต่างๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนาพระภัททากัจจานาเถรีไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้เลิศกว่า ภิกษุณีทั้งหลายผู้ได้บรรลุอภิญญาใหญ่ ๐ พระสารีบุตรเถระถวายรสมะม่วงแก่พระพิมพาเถรี

    สมัยหนึ่ง เมื่อพระเถรีบวชแล้วอาศัยอยู่ในเมืองสาวัตถี ครั้นวันหนึ่ง ลมในพระอุทรของพระเถรีกำเริบขึ้น เมื่อพระโอรสเสด็จมาเพื่อจะเยี่ยมเยียน พระเถรีนั้นไม่สามารถจะออกมาพบได้ ภิกษุณีอื่นๆ จึงมาบอกว่า พระเถรีไม่สบาย

    ราหุลสามเณรนั้นจึงไปยังสำนักของพระมารดา แล้วทูลถามว่า พระองค์ควรจะได้ยาอะไร ?

    พระเถรีผู้ชนนีตรัสว่า ดูก่อนพ่อ ในคราวยังครองเรือน มารดาดื่มรสมะม่วงที่เขาปรุงประกอบด้วยน้ำตาลกรวดเป็นต้น โรคลมในท้องก็สงบระงับไป แต่บัดนี้ พวกเราเที่ยวบิณฑบาตเลี้ยงชีพจักได้รสมะม่วงนั้นมาจากไหน

    ราหุลสามเณรทูลว่า เมื่อหม่อมฉันได้จักนำมา แล้วก็ออกไป

    ก็ท่านผู้มีอายุนั้นมีสมบัติมากมาย คือ มีพระธรรมเสนาบดีเป็นอุปัชฌาย์ มีพระมหาโมคคัลลานะเป็นอาจารย์ มีพระอานันทเถระเป็นอาว์ มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นบิดา แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านก็ไม่ไปยังสำนักอื่น ได้ไปยังสำนักของอุปัชฌาย์ไหว้แล้ว ได้ยืนมีอาการหน้าเศร้าอยู่

    ลำดับนั้น พระเถระจึงกล่าวกะราหุลสามเณรนั้นว่า ดูก่อนราหุล เหตุไรหนอ เธอจึงมีหน้าระทมทุกข์อยู่

    ราหุลสามเณรกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ โรคลมในท้องแห่งพระเถรีผู้เป็นมารดาของกระผม กำเริบขึ้น

    พระเถระถามว่า ได้อะไรจึงจะควร ?

    ราหุลสามเณรเรียนว่า พระมารดาเล่าให้ฟังว่า มีความผาสุกได้ด้วยรสมะม่วงที่ปรุงประกอบด้วยน้ำตาลกรวด

    พระเถระจึงกล่าวว่า ช่างเถอะ เราจักได้มา เธออย่าคิดไปเลย

    ในวันรุ่งขึ้นพระเถระพาราหุลสามเณรนั้นเข้าไปในเมืองสาวัตถี ให้สามเณรนั่งที่โรงฉันแล้วได้ไปยังประตูพระราชวัง พระเจ้าโกศลเห็นพระเถระจึงนิมนต์ให้นั่ง ในขณะนั้นเอง นายอุยยานบาลนำเอามะม่วงหวานที่สุกทั้งพวงจำนวนห่อหนึ่งมาถวาย พระราชาทรงปอกเปลือกมะม่วงแล้วใส่น้ำตาลกรวดลงไป ขยำด้วยพระองค์เองแล้วได้ถวายพระเถระจนเต็มบาตร

    พระเถระออกจากพระราชนิเวศน์ ไปยังโรงฉัน แล้วได้ให้แก่สามเณรโดยกล่าวว่า เธอจงนำรสมะม่วงนั้นไปให้มารดาของเธอ ราหุลสามเณรนั้นได้นำไปถวายแล้ว พอพระเถรีบริโภคแล้วเท่านั้น โรคลมในท้องก็สงบ

    ฝ่ายพระราชาทรงส่งคนไปด้วยดำรัสสั่งว่า พระเถระไม่นั่งฉันรสมะม่วงในที่นี้ เธอจงไปดูให้รู้ว่าพระเถระให้ใคร ราชบุรุษคนนั้นจึงไปพร้อมกับพระเถระ ทราบเหตุนั้นแล้วจึงมากราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ

    พระราชาทรงพระดำริว่าถ้าพระศาสดาจักอยู่ครองเรือน จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ราหุลสามเณรจักได้เป็นขุนพลแก้ว พระเถรีจักได้เป็นนางแก้ว ราชสมบัติในสกลจักรวาฬจักเป็นของท่านเหล่านี้ทีเดียว ควรที่เราจะพึงอุปัฏฐากบำรุงท่านเหล่านี้ บัดนี้ เราไม่ควรประมาทในท่านเหล่านี้ ผู้บวชแล้วเข้ามาอาศัยเราอยู่

    จำเดิมแต่นั้น พระเจ้าโกศลรับสั่งให้ถวายรสมะม่วงแก่พระเถรีเป็นประจำ


    ๐ พระนางภัททากัจจานาทรงกราบ
    ถวายบังคมลาพระผู้มีพระภาคเพื่อดับขันธ์


    ครั้นเมื่อพระเถรีมีพระชนมายุได้ ๗๘ พรรษา พระเถรีพร้อมด้วยภิกษุณี ๑,๑๐๐ องค์ เป็นบริวาร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบถวายบังคมลา เพื่อเสด็จดับขันธ์ นิพพานในคืนวันนั้น

    พระมีผู้พระภาคทรงตรัสให้พระเถรีแสดงฤทธิ์ และตัดความสงสัยของบริษัททั้งปวงในศาสนาเถิด.

    พระยโสธราเถรีจึงได้แสดงฤทธิ์ชนิดต่างๆ มากมาย อาทิเช่น แสดงกายเท่าภูเขาจักรวาล แสดงศีรษะเท่าอุตรกุรุทวีป แสดงแขนสองข้างเท่าทวีปทั้งสอง แสดงสรีระเป็นต้นหว้าประจำทวีปมีกิ่งด้านใต้มีลูกเป็นพวง กิ่งต่างๆ ก็มีลูกดก แสดงดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์เป็นนัยน์ตา แสดงเขาสุเมรุเป็นกระหม่อม แสดงเขาจักรวาลเป็นหน้า เอาต้นหว้าพร้อมทั้งรากทำเป็นพัดเดินเข้าไปเฝ้าถวายบังคมพระศาสดาผู้เป็นนายกของโลก

    แสดงเป็นช้าง เป็นม้า ภูเขา และทะเล ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ เขาสุเมรุ และท้าวสักกเทวราช พระเถรีเอาดอกไม้ปิด โลกธาตุทั้งพันเอาไว้ และนิรมิตเป็นเพศพรหมแสดงสุญญตธรรมอยู่ กราบทูลว่า ข้าแต่พระวีรเจ้าผู้มีพระจักษุ หม่อมฉันผู้ชื่อว่า ยโสธราขอถวายบังคมพระยุคลบาท หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์มีความชำนาญในทิพโสตธาตุ มีความชำนาญในเจโตปริยญาณ ย่อมรู้ปุพเพนิวาสญาณ และทิพจักษุอันหมดจดวิเศษ มีอาสวะทั้งปวงหมดสิ้นแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก

    หม่อมฉันทั้งหลายเผากิเลสทั้งหลายแล้ว พระพุทธเจ้าข้า หม่อมฉันทั้งหลายได้ทำเสร็จแล้ว หม่อมฉันทั้งหลายได้ทุกขวิบัติมากอย่าง และสุขสมบัติก็มากอย่างเช่นนี้ถึงพร้อมแล้ว ซึ่งความเป็นผู้บริสุทธิ์ สมบูรณ์ด้วยคุณทั้งปวง

    บุคคลผู้ถวายตนของตนแก่พระเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เพื่อประโยชน์แก่บุญ ก็ย่อมพรั่งพร้อมไปด้วยสหาย ลุถึงนิพพานบทเป็นอสังขตะกรรมทั้งปวง ส่วนอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของหม่อมฉันทั้งหลายหมดสิ้นไปแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ หม่อมฉันทั้งหลายขอถวายบังคมพระยุคลบาท

    พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อเธอทั้งหลายบอกลาเพื่อจะนิพพาน เราจะกล่าวอะไรให้ยิ่งกะเธอทั้งหลายเล่า แล้วพระเถรีก็ได้กราบถวายบังคมลากลับไป และได้ทรงดับขันธ์ นิพพานในคืนวันนั้นเอง


    ๐ เกิดร่วมสมัยกับพระโพธิสัตว์

    ท่านได้เกิดร่วมชาติกับพระโพธิสัตว์อยู่หลายชาติ ดังที่ปรากฏในชาดกต่างๆ เช่น

    เกิดเป็นมารดาของเนื้อชื่อ ลักขณะและกาฬะ พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นบิดา ในลักขณชาดก

    เกิดเป็นสุภัททาเทวี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ในมหาสุทัสสนชาดก

    เกิดเป็นภรรยา พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นบุรุษผู้ละบุตรและภรรยาออกบวช ในพันธนาคารชาดก

    เกิดเป็นกาชื่อ สุปัสสา พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นกาชื่อ สุปัตตะ ในสุปัตตชาดก

    เกิดเป็นภรรยาของเศรษฐี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นวิสัยหเศรษฐี ในวิสัยหชาดก

    เกิดเป็นพระมเหสี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้ากุรุราชโพธิสัตว์ ในกุรุธรรมชาดก

    เกิดเป็นพระเทวี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นดาบสผู้อยู่ในพระราชอุทยาน ในอัพภันตรชาดก

    เกิดเป็นนางสัมมิลลหาสินี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นดาบส ในอนนุโสจิยชาดก

    เกิดเป็นธิดาของหัวหน้าช่างเหล็ก พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นหัวหน้าช่างเหล็ก ในสูจิชาดก

    เกิดเป็นแม่ของสิงห์โตชื่อ มโนชะ พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพ่อ ในมโนชชาดก

    เกิดเป็นพระอัครมเหสี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าสุสีมะ ในสุสีมชาดก

    เกิดเป็นพระราชเทวี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระราชา ในกุมมาสปิณฑชาดก

    เกิดเป็นพระอัครมเหสี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าอุทัยราช ในคังคมาลชาดก

    เกิดเป็นพระสุททวิชยาเทวี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าเภรุวราช ในอาทิตตชาดก

    เกิดเป็นนางนกจักรพราก พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นนกจักรพราก ในจักกวากชาดก

    เกิดเป็นนางปริพพาชิกา พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นปริพพาชก ในจุลลโพธิชาดก

    เกิดเป็นพระเทวี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าพาราณสี ในปานียชาดก

    เกิดเป็นจันทากินรี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นจันทกินนรี ในจันทกินนรชาดก

    เกิดเป็นนางนาคกัญญาสุมนาเทวี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นจัมเปยยนาคราช ในจัมเปยยชาดก

    เกิดเป็นพระอัครมเหสี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นอลีนสัตตุราชกุมาร ในชัยทิสชาดก

    เกิดเป็นพระนางประภาวดี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้ากุสราช ในกุสชาดก

    เกิดเป็นสีวลีเทวี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระมหาชนกนรินทรราช ในมหาชนกชาดก

    เกิดเป็นพระนางจันทาเทวี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระจันทกุมาร ในจันทกุมารชาดก

    เกิดเป็นภริยาใหญ่ของบัณฑิต พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นวิธุรบัณฑิต ในวิธุรชาดก

    เกิดเป็นนางอมรา พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นมโหสถบัณฑิต ในมโหสถชาดกบัณฑิต

    เกิดเป็นพระนางมัทรีเทวี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร ในเวสสันดรชาดก



    .............................................................

    คัดลอกมาจาก ::
    http://www.dharma-gateway.com/


    .............................................................

    สมเด็จพระนางพิมพาภิกษุณี
    จากหนังสือวิมุตติรัตนมาลี
    รจนาโดย พระพรหมโมลี วัดยานนาวา กทม.


    http://www.palapanyo.com/Pimpa/index.html

    • Update : 17/4/2554
    © Copyright 2011 www.watbangwaek.com All rights reserved