หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน






ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  พระบูชา
  พระเหรียญ
  พระผง
  เครื่องราง
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    จิตตคฤหบดี

    Image

    จิตตคฤหบดี
    เอตทัคคะในทางผู้เป็นธรรมกถึก


    จิตตคฤหบดีผู้ได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดาให้เป็นยอดของอุบาสกทั้งหลายผู้เป็นธรรมกถึก ก็โดยเหตุ ๒ ประการ คือโดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ เพราะท่านแสดงให้ผู้อื่นเห็นเป็นอย่างชัดเจนในคุณข้อนี้ของท่าน และไม่เพียงเนื่องจากเหตุข้อนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นการแต่งตั้งโดยเหตุที่ท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปนี้


    ๐ ตั้งความปรารถนาไว้ในอดีต

    ได้ยินว่า จิตตคฤหบดีนี้ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ บังเกิดในเรือนสกุล กรุงหังสวดี ต่อมา ฟังธรรมกถาของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาอุบาสกคนหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าอุบาสกผู้เป็นธรรมกถึก จึงทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้นบ้าง ครั้นสิ้นชีวิตลง ก็เวียนว่ายอยู่ใน ภพภูมิเทวดาและมนุษย์ถึงแสนกัป


    ๐ ในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า

    ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ บังเกิดในเรือนแห่งนายพรานเนื้อ ต่อมาในเวลาที่เขาสามารถจะทำการงานในป่าได้แล้ว วันหนึ่ง เมื่อฝนตกอยู่ เขาได้ถือเอาหอกเข้าไปในป่าเพื่อจะฆ่าเนื้อ ขณะที่กำลังมองดูเนื้อตัวหนึ่งอยู่ ก็แลเห็นภิกษุรูปหนึ่งห่มผ้าบังสุกุลคลุมศีรษะนั่งอยู่บนหลังแผ่นหินที่เงื้อมเขาแห่งหนึ่ง ก็เกิดกุศลจิตขึ้นว่า พระผู้เป็นเจ้า นั่งกระทำสมณธรรมอยู่รูปเดียว เราจักนำอาหารมา เพื่อพระผู้เป็นเจ้านั้น ดังนี้

    เขาคิดดังนั้นแล้ว จึงได้รีบกลับไปเรือน ปิ้งเนื้อที่ได้มาเมื่อวานไว้ที่เตาหนึ่ง แล้วหุงข้าวที่อีกเตาหนึ่ง ในระหว่างนั้นก็เห็นภิกษุสองรูปเที่ยวบิณฑบาตอยู่ จึงได้รับบาตรของท่านแล้วนิมนต์ให้นั่งเหนืออาสนะที่จัดไว้ ให้รับอาหารแล้วสั่งคนที่อยู่ในบ้านว่า พวกท่านจงเลี้ยงดูพระผู้เป็นเจ้า ส่วนตัวเองก็ใส่ข้าวลงในหม้อ เอาใบไม้ผูกปากหม้อแล้วถือหม้อเดินไป ระหว่างทางก็เลือกเก็บดอกไม้นานาชนิด ห่อด้วยใบไม้ ไปสู่ที่พระเถระนั่งแล้วกล่าวว่า

    “ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงทำความสงเคราะห์แก่กระผมเถิด”

    ดังนี้แล้ว รับบาตร ให้เต็มด้วยภัตแล้ววางไว้ในมือของพระเถระ กระทำการบูชาด้วยดอกไม้เหล่านั้น ตั้งความปรารถนาว่า

    “บิณฑบาตอันมีรสนี้ พร้อมด้วยดอกไม้เครื่องบูชา ยังจิตของข้าพเจ้าให้ยินดีฉันใด ขอบรรณาการพันหนึ่ง จงมายังจิตของข้าพเจ้าให้ยินดีในที่ที่ข้าพเจ้าเกิดแล้วๆ ฉันนั้น และขอฝนดอกไม้มีสี ๕ สีจงตก”

    พระเถระเห็นอุปนิสัยของเขาแล้ว บอกให้กรรมฐานมีอาการ ๓๒ เป็นอารมณ์

    เขาทำกุศลจนตลอดชีวิตบังเกิดในเทวโลก ในสถานที่เกิดก็มีฝนดอกไม้ทิพย์ตกลงตามพื้นที่ประมาณแค่หัวเข่า ทั้งตนเองก็ประกอบด้วยยศยิ่งกว่าเทวดาองค์อื่นๆ

    เขาเวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์พุทธันดรหนึ่ง


    ๐ ในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

    ในพุทธุปบาทกาลนี้ ก็บังเกิดในสกุลเศรษฐี ณ นครมัจฉิกาสัณฑะ แคว้นมคธ เวลาเขาเกิด ฝนดอกไม้ ๕ สี ตกลงประมาณแค่หัวเข่าทั่วพระนคร ครั้งนั้น บิดามารดาของเขาคิดว่า เหตุที่เกิดขึ้นเสมือนหนึ่งจะเป็นการกำหนดชื่อบุตรของตน แม้ในวันเกิด ทั่วพระนครก็วิจิตรด้วยดอกไม้ ๕ สี จึงขนานนามเขาว่า จิตตกุมาร ต่อมาเขาดำรงอยู่ในฆราวาสวิสัย เมื่อบิดาล่วงลับไป ก็ได้ตำแหน่งเศรษฐีในนครนั้น


    ๐ จิตตคฤหบดีได้ฟังธรรมจากพระมหานามะ

    สมัยหนึ่ง พระเถระชื่อว่ามหานามะ ซี่งเป็นหนึ่งในจำนวนพระเถระปัญจวัคคีย์ ได้จาริกไปถึงนครมัจฉิกาสัณฑะ จิตตคฤหบดีเมื่อได้พบท่านก็เลื่อมใสในอิริยาบถของท่าน จึงรับบาตรแล้วนิมนต์มายังเรือน บูชาด้วยบิณฑบาต เมื่อท่านฉันเสร็จแล้ว พระ เถระเห็นอุปนิสัยของจิตตคฤหบดีนั้น เมื่อแสดงธรรมจึงแสดงเฉพาะสฬายตนวิภังค์เท่านั้น ไม่ช้านัก จิตตคฤหบดีก็บรรลุโสดาปัตติผล เพราะตนมีการพิจารณาเห็นสังขารอันทุกข์บีบคั้นแล้วในภพก่อน

    จากนั้นคฤหบดีก็นำไปยังสวนของตนที่ชื่อ อัมพาฏกวัน ปรารถนาจะอุทิศสวนแห่งนั้นให้เป็นอาราม จึงได้กล่าวถวายสวนอัมพาฏกวัน ให้เป็น อัมพาฏการาม เมื่อเวลาที่จิตตคฤหบดีได้หลั่งน้ำถวายพระอารามนั้น มหาปฐพีก็ได้หวั่นไหวเพื่อจะบอกเหตุว่า “พระพุทธศาสนาตั้งมั่นแล้ว”

    จิตตคฤหบดีให้สร้างวิหารใหญ่ และที่อยู่ในอุทยานถวายพระเถระ นิมนต์ให้ท่านอยู่รับบิณฑบาตในเรือนตนเป็นนิตย์ พระอารามนั้นก็ได้เป็นอารามที่ท่านเศรษฐีได้สร้างขึ้นเพื่อพวกภิกษุผู้มาจากทิศทั้งปวงแล้ว โดยมีพระสุธรรมเถระได้เป็นเจ้าอาวาสอยู่ในมัจฉิกาสัณฑ์


    ๐ อิสิทัตตะออกบวชเพราะได้อ่านสาส์นจากคฤหบดี

    จิตตคฤหบดีนั้นได้มีสหายคนหนึ่งชื่อว่า อิสิทัตตะ.เป็นบุตรของนายเกวียนคนหนึ่ง ในวัฑฒคาม แคว้นอวันตี อิสิทัตตะเป็นอทิฏฐสหาย (คือสหายที่ไม่เคยเห็นหน้ากัน) กับท่านคฤหบดี วันหนึ่ง อิสิทัตตะได้รับสาสน์ที่จิตตคฤหบดี เขียนพรรณนาพระพุทธคุณส่งไปให้ จึงเกิดความเลื่อมใสในพระศาสดา บวชในสำนักของพระมหากัจจายนเถระ ได้บำเพ็ญวิปัสสนาแล้ว ต่อกาลไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหันต์

    ครั้นเมื่อท่านบรรลุพระอรหันต์แล้ว ก็คิดว่า จักเดินทางไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้อำลาพระเถระ แล้วเดินทางไปสู่มัชฌิมประเทศโดยลำดับ

    วันหนึ่ง ท่านพระอิสิทัตตเถระเดินทางมาถึงและพักอยู่ที่อัมพาฏการามนั้น เมื่อฉันเสร็จในเรือนของเศรษฐีแล้ว ท่านเศรษฐีได้ถามปัญหากับท่านพระสุธรรมเถระผู้เป็นประธานสงฆ์ แต่ท่านพระเถระไม่อาจแก้ปัญหาได้ ท่านพระอิสิทัตตเถระจึงได้ขอโอกาสเป็นผู้วิสัชนาปัญหาแก่อุบาสก และได้แก้ปัญหาให้กับท่านเศรษฐีได้อย่างกระจ่างแจ้ง ท่านจิตตเศรษฐีจึงถามท่านพระเถระและได้โต้ตอบกันดังนี้

    จิตตเศรษฐี : ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระคุณเจ้าอิสิทัตตะมาจากไหน ฯ

    อิสิทัตตเถระ : ดูกรคฤหบดี อาตมภาพมาจากอวันตีชนบท ฯ

    จิตตเศรษฐี : ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กุลบุตรมีนามว่าอิสิทัตตะในอวันตีชนบทเป็นสหายที่ไม่เคยเห็นกันของข้าพเจ้า ได้ออกบรรพชามีอยู่ พระคุณเจ้าได้เห็นท่านหรือไม่ ฯ

    อิสิทัตตเถระ : ได้เห็น คฤหบดี ฯ

    จิตตเศรษฐี : ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เดี๋ยวนี้ ท่านผู้มีอายุรูปนั้นอยู่ที่ไหนหนอ ฯ

    เมื่อจิตตคฤหบดีได้ถามอย่างนี้ ท่านอิสิทัตตะได้นิ่งอยู่ ฯ

    จิตตเศรษฐี : ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านอิสิทัตตะของข้าพเจ้า คือพระคุณเจ้าหรือ ฯ

    อิสิทัตตเถระ : ใช่ละ คฤหบดี ฯ

    จิตตเศรษฐี : ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอให้พระคุณเจ้าอิสิทัตตะจงชอบใจอัมพาฏกวันอันเป็นที่น่ารื่นรมย์ใกล้ราวป่ามัจฉิกาสณฑ์เถิด ข้าพเจ้าจักบำรุงด้วยจีวรบิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานเภสัชบริขาร

    อิสิทัตตเถระ : ดูกรคฤหบดี ท่านกล่าวดีแล้ว ฯ

    ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดีชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของท่านพระอิสิทัตตะแล้ว ภิกษุผู้เถระทั้งหลาย ลุกขึ้นจากอาสนะกลับไป

    ลำดับนั้น พระเถระผู้เป็นประธานได้ให้โอกาสท่านพระอิสิทัตตะว่า ดีแล้ว ท่านอิสิทัตตะปัญหาข้อนั้นแจ่มแจ้งแก่ท่าน มิได้แจ่มแจ้งแก่ผม ต่อไป ถ้าปัญหาเช่นนี้พึงมีมาในกาลใด ท่านนั่นแหละพึงกล่าวตอบปัญหาเช่นนั้น

    ในกาลนั้นครั้งนั้นแล ท่านอิสิทัตตะเมื่อทราบว่าเป็นสหายคฤหัสถ์กับจิตตเศรษฐีกันมาก่อน จึงคิดว่า บัดนี้ ไม่ควรอยู่ในที่นี้ ได้เก็บเสนาสนะ ถือเอาบาตรและจีวร เดินทางออกจากราวป่าชื่อมัจฉิกาสณฑ์ ไม่ได้กลับมาอีกเหมือนกับภิกษุรูปอื่นที่ได้ออกเดินทางจากไป ฯ


    ๐ คฤหบดีอ้อนวอนพระพระมหกะให้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์

    สมัยหนึ่ง เศรษฐีคฤหบดีได้นิมนต์พระภิกษุทั้งหลายภายในพระอาราม ให้มารับภัตตาหารที่เรือนเศรษฐี ครั้นเมื่อภิกษุผู้เถระทั้งหลายฉันเสร็จแล้ว ลดมือจากบาตร ลุกจากอาสนะแล้วจากไป จิตตคฤหบดีจึงได้ตามไปส่งภิกษุผู้เถระทั้งหลาย

    สมัยนั้นแลอากาศได้เกิดร้อนจัด ภิกษุผู้เถระทั้งหลายได้เดินไปด้วยความยากลำบาก ท่านพระมหกะซึ่งเป็นผู้อ่อนกว่าทุกองค์ในภิกษุสงฆ์หมู่นั้น ได้พูดกะพระสุธรรมเถระผู้เป็นประธานว่า

    ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เป็นการดีทีเดียวถ้าจะมีลมเย็นพัดมา และมีแดดออกอ่อนๆ ทั้งฝนพึงโปรยลงมาทีละเม็ดๆ

    พระเถระกล่าวว่า ท่านมหกะ เป็นการดีทีเดียว ถ้าจะมีอย่างที่ท่านว่านั้น ครั้งนั้นแลท่านพระมหกะได้บันดาลอิทธิฤทธิ์ให้มีลมเย็นพัดมา และมีแดดอ่อน ทั้งให้มีฝนโปรยลงมาทีละเม็ดๆ ฯ

    จิตตคฤหบดีเห็นดังนั้นก็คิดว่า ภิกษุผู้อ่อนกว่าทุกองค์ในภิกษุสงฆ์หมู่นี้ เป็นผู้มีฤทธานุภาพเห็นปานนี้ทีเดียว ครั้งนั้นแล ภิกษุผู้เถระทั้งหลายได้ไปตามที่อยู่ แม้ท่านมหกะก็ได้ไปยังที่อยู่ของตน จิตตคฤหบดีเข้าไปหาท่านพระมหกะถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ขอร้องว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอพระคุณเจ้ามหกะจงแสดงอิทธิปาฏิหารย์ที่เป็นอุตริมนุสธรรมแก่ข้าพเจ้าเถิด

    ท่านพระมหกะพูดว่า ดูกรคฤหบดีถ้าเช่นนั้น ท่านจงปูผ้าห่มที่ระเบียง แล้วจงเอาฟ่อนหญ้ามาโปรยลงที่ผ้านั้น

    จิตตคฤหบดีได้รับคำท่านพระมหกะแล้วจึงปูผ้าห่มที่ระเบียง แล้วเอาฟ่อนหญ้ามาโปรยลงที่ผ้านั้น

    ครั้งนั้นแล ท่านพระมหกะได้เข้าไปสู่วิหารใส่ลูกดานแล้วได้บันดาลฤทธิ์ให้เปลวไฟแลบออกมาโดยช่องลูกดานและระหว่างลูกดานไหม้หญ้า ไม่ไหม้ผ้าห่ม

    ครั้งนั้นจิตตคฤหบดีได้สลัดผ้าห่มแล้ว ตกใจ ขนลุกชัน ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    ลำดับนั้นแล ท่านพระมหกะได้ออกจากห้องแล้วได้ถามจิตตคฤหบดีว่า ดูกรคฤหบดีการบันดาลอิทธาภิสังขารเท่านี้ เป็นการเพียงพอหรือ

    จิตตคฤหบดีได้กล่าวว่า ท่านมหกะผู้เจริญ เป็นการเพียงพอแล้ว ขอพระคุณเจ้ามหกะจงชอบใจอัมพาฏกวนารามที่น่ารื่นรมย์ใกล้ราวป่ามัจฉิกาสณฑ์เถิด ข้าพเจ้าจักบำรุงด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานเภสัชบริขาร

    ท่านพระมหกะได้กล่าวว่า ดูกรคฤหบดี นั่นท่านกล่าวดีแล้ว

    ครั้งนั้นแลท่านพระมหกะได้เก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรเดินทางออกจากราวป่าชื่อมัจฉิกาสณฑ์ ไม่ได้กลับมาอีก เหมือนกับภิกษุรูปอื่นๆ ที่เดินทางจากไป ฉะนั้น ฯ


    ๐ คฤหบดีชักจูงอเจลกัสสปผู้สหายให้เลื่อมใสพุทธศาสนา

    สมัยนั้นแล อเจลก (นักบวชเปลือย) ชื่อกัสสปผู้เคยเป็นสหายของจิตตคฤหบดีเมื่อครั้งยังเป็นคฤหัสถ์ ได้ไปถึงราวป่ามัจฉิกาสณฑ์ จิตตคฤหบดีได้สดับข่าวว่าอเจลกัสสปมาถึงจึงได้เข้าไปหาแล้วได้ปราศรัยกันพอสมควร ครั้นแล้วได้ถามอเจลกัสสปว่า ท่านกัสสปผู้เจริญ ท่านบวชมานานเท่าไร

    อเจลกัสสปตอบว่า : ดูกรคฤหบดี เราบวชมาได้ประมาณ ๓๐ ปี ฯ

    จิตตคฤหบดี : ท่านผู้เจริญ ก็ตลอดเวลา ๓๐ ปีมานี้ ท่านได้บรรลุคุณพิเศษอะไรๆ ที่เป็นญาณทัสสนะวิเศษชั้นเยี่ยม บ้างหรือไม่ ฯ

    อเจลกัสสป : ดูกรคฤหบดี ตลอดเวลา ๓๐ ปีมานี้ คุณพิเศษอะไรๆ ที่เป็นญาณทัสสนะวิเศษชั้นเยี่ยมที่เราบรรลุนั้น ไม่มี นอกจากการประพฤติเปลือย การเป็นคนโล้น และการสลัดฝุ่น ฯ

    อเจลกัสสป : ดูกรคฤหบดี ก็ท่านได้เข้าถึงความเป็นอุบาสกมาแล้วนานเท่าไร ฯ

    จิตตคฤหบดี.: ท่านผู้เจริญ สำหรับข้าพเจ้าได้เข้าถึงความเป็นอุบาสกมาแล้ว ๓๐ปี ฯ

    อเจลกัสสป : ดูกรคฤหบดี ก็ตลอดเวลา ๓๐ ปีมานี้ คุณวิเศษชั้นเยี่ยมอย่างบริบูรณ์ ที่ท่านบรรลุแล้ว เป็นธรรมเครื่องอยู่ผาสุก มีอยู่หรือ ฯ

    จิตตคฤหบดี : ท่านผู้เจริญ แม้คฤหัสถ์ก็พึงมีธรรมเช่นนั้นได้ เพราะข้าพเจ้าย่อมจำนงหวังได้ทีเดียวว่า เราสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่

    ข้าพเจ้าย่อมจำนงหวังได้ทีเดียวว่าเราเข้าทุติยฌาน...

    ข้าพเจ้าย่อมจำนงหวังได้ทีเดียวว่า มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป เข้าตติยฌาน...

    ข้าพเจ้าย่อมจำนงหวังได้ทีเดียวว่า เราเข้าจตุตถฌาน...

    ก็แหละข้าพเจ้าพึงพยากรณ์ก่อนพระผู้มีพระภาคไซร้ ก็จะไม่เป็นการน่าอัศจรรย์ สำหรับข้อที่พระผู้มีพระภาคจะพึงทรงพยากรณ์ข้าพเจ้าว่า ไม่มีสังโยชน์ที่จิตตคฤหบดีประกอบแล้ว มีแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้กลับมาสู่โลกนี้อีก ฯ

    เมื่อจิตตคฤหบดีกล่าวอย่างนี้ อเจลกัสสปได้กล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยมีมาแล้วหนอ เพราะในพระธรรมวินัย มีคฤหัสถ์ผู้นุ่งห่มขาว บรรลุคุณวิเศษชั้นเยี่ยมอย่างบริบูรณ์ ที่เป็นธรรมเครื่องอยู่ผาสุกเช่นนั้น ดูกรคฤหบดี ขอให้ข้าพเจ้าพึงได้บรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ ฯ

    ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดีได้พาเอาอเจลกัสสปเข้าไปหาภิกษุผู้เถระถึงที่อยู่แล้วกล่าวว่า

    ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย อเจลกัสสปผู้นี้เคยเป็นสหายของข้าพเจ้าเมื่อครั้งยังเป็นคฤหัสถ์ ขอพระเถระทั้งหลายจงให้อเจลกัสสปผู้นี้บรรพชาอุปสมบทเถิด ข้าพเจ้าจักบำรุงเธอด้วยจีวรบิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริกขาร

    อเจลกัสสปได้บรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัยแล้ว ท่านพระกัสสปอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกจากหมู่ อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจแน่วแน่ กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

    ท่านพระกัสสปได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ


    ๐ คฤหบดีบรรลุอนาคามิผล

    โดยสมัยอื่น พระอัครสาวกทั้งสอง สดับกถาพรรณนาคุณของจิตตคฤหบดีแล้ว ใคร่จะทำความสงเคราะห์แก่คฤหบดีนั้น จึงได้ไปสู่มัจฉิกาสัณฑนคร จิตตคฤหบดีทราบการมาของพระอัครสาวกทั้งสองนั้นจึงไปต้อนรับสิ้นทางประมาณกึ่งโยชน์ พาพระอัครสาวกทั้งสองนั้นมาแล้ว นิมนต์ให้เข้าไปสู่วิหารของตน ทำอาคันตุกวัตรแล้วอ้อนวอนพระธรรมเสนาบดีว่า “ท่านผู้เจริญ กระผมปรารถนาฟังธรรมกถาสักหน่อย”

    ครั้งนั้น พระเถระกล่าวกะเขาว่า “อุบาสก อาตมะทั้งหลายเหน็ดเหนื่อยแล้วโดยทางไกล อนึ่ง ท่านจงฟังเพียงนิดหน่อยเถิด” ดังนี้แล้ว ก็กล่าวธรรมกถาแก่เขา

    คฤหบดีนั้นฟังธรรมกถาของพระเถระอยู่แล บรรลุอนาคามิผลแล้ว เขาไหว้พระอัครสาวกทั้งสองแล้วนิมนต์ว่า

    “ท่านผู้เจริญ พรุ่งนี้ขอท่านทั้งสอง กับภิกษุพันรูป รับภิกษาที่เรือนกระผม”

    แล้วจึงมานิมนต์พระสุธรรมเถระเจ้าอาวาสภายหลังว่า

    “ท่านขอรับพรุ่งนี้แม้ท่านก็พึงมากับพระเถระทั้งหลาย”


    ๐ พระสุธรรมเถระด่าคฤหบดี

    พระสุธรรมเถระนั้นก็โกรธว่าอุบาสกนี้ มานิมนต์เราภายหลัง จึงปฏิเสธ แม้อันคฤหบดีอ้อนวอนอยู่บ่อยๆ ก็ปฏิเสธแล้วนั่นแหละ

    ในวันรุ่งขึ้นจิตตคฤหบดีได้จัดแจงทานใหญ่ไว้ในที่อยู่ของตน ในเวลาใกล้รุ่ง

    ฝ่ายพระสุธรรมเถระก็คิดจะไปดูว่า พรุ่งนี้คฤหบดีจะจัดแจงสักการะ เพื่อพระอัครสาวกทั้งสองไว้เช่นไร รุ่งขึ้นจึงได้ถือบาตรและจีวรไปสู่เรือนของคฤหบดีนั้นแต่เช้าตรู่

    เมื่อไปถึงเรือนคฤหบดีแล้ว แม้คฤหบดีจะกล่าวนิมนต์ให้นั่งเ พระสุธรรมเถระนั้นก็ปฏิเสธว่า “เราไม่นั่ง เราจักเที่ยวบิณฑบาต” แล้วก็เที่ยวตรวจดูสักการะที่คฤหบดีเตรียมไว้เพื่อพระอัครสาวกทั้งสอง เมื่อเห็นแล้วก็ใคร่จะเสียดสีคฤหบดีโดยชาติ จึงกล่าวว่า “คฤหบดีสักการะของท่านล้นเหลือ แต่ก็ขาดอยู่อย่างเดียวเท่านั้น”

    คฤหบดี “อะไร ขอรับ ?”

    พระเถระ ตอบว่า “ขนมแดกงา คฤหบดี”

    ครั้นพระเถระถูกคฤหบดีรุกรานด้วยวาจาอุปมาด้วยกา ก็โกรธแล้วกล่าวว่า

    “คฤหบดี อาวาสนี้เป็นของท่าน เราจักหลีกไป”

    แม้คฤหบดีจะห้ามถึง ๓ ครั้ง แต่พระเถระก็มิฟัง หลีกไปสู่สำนักพระศาสดา กราบทูลคำที่จิตตคฤหบดี และตนกล่าวแล้ว


    ๐ พระสุธรรมเถระถูกสงฆ์ลงปฏิสารณียกรรม

    พระศาสดาตรัสว่า “อุบาสกอันเธอด่าด้วยคำเลว เป็นคนมีศรัทธาเลื่อมใส” ดังนี้แล้ว ทรงปรับโทษแก่พระสุธรรมเถระนั้นนั่นแล แล้วรับสั่งให้สงฆ์ลงปฏิสารณียกรรม (กรรมอันให้ระลึกถึงความผิด) แล้วส่งไปว่า “เธอจงไป แล้วให้จิตตคฤหบดียกโทษเสีย”

    พระเถระไปในที่นั้นแล้วกล่าวแสดงโทษของตน พร้อมกับขอให้คฤหบดียกโทษให้ แต่คฤหบดีนั้นปฏิเสธการยกโทษแก่พระเถระ ครั้นเมื่อไม่อาจให้คฤหบดีนั้นยกโทษให้ตนได้ พระเถระจึงกลับมาสู่สำนักพระศาสดา ๐ สมณะไม่ควรทำมานะและริษยา

    แม้พระศาสดาก็ทรงทราบว่าอุบาสกจักไม่ยกโทษแก่พระสุธรรมนั้น ทรงดำริว่าภิกษุนี้ กระด้างเพราะมานะ จึงไม่ทรงบอกอุบายเพื่อให้คฤหบดียกโทษให้เลย ทรงส่งให้กลับไปใหม่ โดยประทานภิกษุผู้อนุทูตแก่เธอผู้นำมานะออกแล้ว ตรัสว่า “เธอจงไปเถิด ไปกับภิกษุนี้ จงให้อุบาสกยกโทษ” ดังนี้แล้ว ตรัสว่า

    “ธรรมดาสมณะไม่ควรทำมานะหรือริษยาว่า ‘วิหารของเรา ที่อยู่ของเรา อุบาสกของเรา อุบาสิกาของเรา เพราะเมื่อสมณะทำอย่างนั้น เหล่ากิเลส มีริษยาและมานะเป็นต้น ย่อมเจริญ”

    เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า

    “ภิกษุผู้พาล พึงปรารถนาความยกย่องอันไม่
    มีอยู่ ความแวดล้อมในภิกษุทั้งหลาย ความเป็นใหญ่
    ในอาวาส และการบูชาในตระกูลแห่งชนอื่น ความ
    ดำริ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้พาลว่า ‘คฤหัสถ์และ
    บรรพชิตทั้งสองจงสำคัญกรรม อันเขาทำเสร็จแล้ว
    เพราะอาศัยเราผู้เดียว จงเป็นไปในอำนาจของเรา
    เท่านั้น ในกิจน้อยใหญ่ กิจไรๆ ริษยาและมานะย่อมเจริญ (แก่เธอ)”


    ๐ พระสุธรรมเถระบรรลุพระอรหัต

    แม้พระสุธรรมเถระฟังพระโอวาทนี้แล้ว ถวายบังคมพระศาสดาลุกขึ้นจากอาสนะ กระทำประทักษิณแล้ว ไปกับภิกษุผู้เป็นอนุฑูตนั้น แสดงอาบัติต่อหน้าอุบาสก ขออุบาสกให้ยกโทษแล้ว พระสุธรรมเถระนั้นเมื่ออุบาสกยกโทษให้ด้วยการกล่าวว่า “กระผมยกโทษให้ขอรับ ถ้าโทษของกระผมมี ขอท่านจงยกโทษแก่กระผม” แล้วท่านพระสุธรรมเถระก็ตั้งอยู่ในพระโอวาทที่พระศาสดาประทานแล้ว โดย ๒ - ๓ วันเท่านั้น ก็บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา


    ๐ จิตตคฤหบดีไปเฝ้าพระศาสดา

    ฝ่ายอุบาสกคิดว่า “เรายังไม่ได้เฝ้าพระศาสดาเลย เมื่อบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว ยังไม่ได้เฝ้าพระศาสดาเหมือนกัน เมื่อดำรงอยู่ในอนาคามิผล เราควรเฝ้าพระศาสดาโดยแท้”

    คฤหบดีนั้น ให้เทียมเกวียน ๕๐๐ เล่มเต็มด้วยวัตถุมีงา ข้าวสาร เนยใส น้ำอ้อย และผ้านุ่งห่มเป็นต้นแล้วให้บอกแก่หมู่ภิกษุว่า “พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายใด ประสงค์จะเฝ้าพระศาสดา พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายนั้นจงไป จักไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตเห็นต้น”

    ดังนี้แล้ว ก็ให้แจ้งทั้งแก่หมู่ภิกษุณี ทั้งแก่พวกอุบาสกทั้งแก่พวกอุบาสิกา ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป ภิกษุณีประมาณ ๕๐๐ รูปอุบาสกประมาน ๕๐๐ อุบาสิกาประมาณ ๕๐๐ ออกไปกับคฤหบดีนั้น.เขาตระเตรียมแล้วโดยประการที่จะไม่มีความบกพร่องสักน้อยหนึ่ง ด้วยข้าวยาคูและภัตเป็นต้น ในหนทาง ๓๐ โยชน์ เพื่อชนสามพันคน คือเพื่อภิกษุเป็นต้นเหล่านั้นนั่นแล และเพื่อบริษัทของตน

    ฝ่ายพวกเทวดาทั้งหลาย เมื่อทราบความที่อุบาสกนั้นออกเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ไปเนรมิตค่ายที่พักไว้ตามระยะทางทุกๆ โยชน์ (๑๖ กิโลเมตร) แล้วบำรุงชนเหล่านั้นด้วยอาหารวัตถุ มีข้าวยาคู ของควรเคี้ยว ภัตและน้ำดื่มเป็นต้น อันเป็นทิพย์ ความบกพร่องด้วยวัตถุอะไรๆ มิได้เกิดขึ้นแก่ใครๆ

    มหาชนอันเทวดาทั้งหลายบำรุงอยู่อย่างนั้น เดินทางได้วันละโยชน์ๆ โดยเดือนหนึ่งก็ถึงกรุงสาวัตถี เกวียนทั้ง ๕๐๐ เล่ม ก็ยังเต็มบริบูรณ์เช่นเดิมนั้นแหละ คฤหบดีได้สละบรรณาการที่พวกเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายนำมา ไปแล้ว


    ๐ พระศาสดาทรงแสดงปาฏิหาริย์

    พระศาสดา ตรัสกะพระอานนทเถระว่า “อานนท์ ในเวลาบ่ายวันนี้ จิตตคฤหบดีพร้อมด้วยอุบาสก ๕๐๐ ผู้แวดล้อมอยู่ จักมาไหว้เรา”

    พระอานนท์ : พระเจ้าข้า ก็ในกาลที่จิตตคฤหบดีนั้นถวายบังคมพระองค์ ปาฏิหาริย์ไรๆ จักมีหรือ ?

    พระศาสดา : จักมี อานนท์

    อานนท์ : ปาฏิหาริย์อะไร ? พระเจ้าข้า

    พระศาสดา : ในกาลที่จิตตคฤหบดีนั้น มาไหว้เรา ฝนดอกไม้ทิพย์ ๕ สี จักตกโดยประมาณเพียงเข่าในบริเวณประมาณ ๘ กรีส (ประมาณ ๕๐๐ เมตร)

    ชาวเมืองเมื่อได้ฟังข่าวนั้นแล้วก็คิดว่า “ได้ยินว่า จิตตคฤหบดีผู้มีบุญมากถึงอย่างนั้น จักมาถวายบังคมพระศาสดาในวันนี้ เขาว่าปาฏิหาริย์อย่างนี้จักเกิดขึ้น พวกเราจักได้เห็นผู้มีบุญมากนั้น” ดังนี้แล้วได้ถือเอาเครื่องบรรณาการไปยืนอยู่สองข้างทาง

    ในกาลที่จิตตคฤหบดีมาใกล้วิหาร ภิกษุ ๕๐๐ รูปมาถึงก่อน จิตตคฤหบดีกล่าวกะพวกอุบาสิกาว่า “พวกท่านทั้งหลาย จงตามมาข้างหลัง” ส่วนตนกับอุบาสก ๕๐๐ก็ได้ไปสู่สำนักของพระศาสดา ท่ามกลางสายตาของมหาชนทั้งหลาย ผู้เข้าเฝ้าอยู่ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า

    คฤหบดีนั้นเข้าเฝ้าพระศาสดา เข้าไปภายในพระพุทธรัศมีมีพรรณะ ๖ จับพระบาทพระศาสดาที่ข้อพระบาททั้งสองถวายบังคมแล้ว ในขณะนั้นเอง ฝนดอกไม้มีประการดังกล่าวมา ตกแล้ว มหาชนเปล่งเสียงสาธุการขึ้นพร้อมกัน

    แล้วพระศาสดาจึงตรัสสฬายตนวิภังค์ โปรดคนเหล่านั้น ตามอัธยาศัยของจิตตคฤหบดี


    ๐ จิตตคฤหบดีถวายทาน

    คฤหบดีนั้น อยู่ในสำนักพระศาสดาสิ้นเดือนหนึ่งแล ได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์ ทั้งสิ้นมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ให้นั่งในวิหารนั่นแหละ ถวายทานใหญ่แล้ว นิมนต์ภิกษุแม้ที่มาพร้อมกับตนให้อยู่ภายในอารามนั้นแหละบำรุงแล้ว ไม่ต้องหยิบอะไรๆ ในเกวียนของตน แม้สักวันหนึ่ง ได้ทำกิจทุกอย่างด้วยบรรณาการที่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายนำมาเท่านั้น

    จิตตคฤหบดีนั้น ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว กราบทูลว่า

    “พระเจ้าข้า ข้าพระองค์มาด้วยตั้งใจว่า จักถวายทานแด่พระองค์ ได้พักอยู่ในระหว่างทางเดือนหนึ่ง และในที่นี้เวลาเดือนหนึ่งของข้าพระองค์ก็ได้ล่วงไปแล้ว สิ่งของที่ข้าพระองค์ตั้งใจจะนำมาถวายนั้น ข้าพระองค์ยังมิได้ต้องนำออกมาถวายทานเลย ด้วยว่าของอะไรๆ ที่ได้ถวายทานตลอดเวลาที่ผ่านมานี้ เป็นสิ่งของที่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายนำมาทั้งนั้น ข้าพระองค์นั้น แม้ถ้าจะอยู่ในที่นี้ไปอีกตลอดปีหนึ่ง ก็จักไม่ได้โอกาสเพื่อจะถวายไทยธรรมของข้าพระองค์แน่แท้ ข้าพระองค์ปรารถนาจักนำของในเกวียนออกถวายเป็นทานแล้วกลับไป ขอพระองค์ จงโปรดให้บอกที่สำหรับเก็บของนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด”

    พระศาสดา ตรัสกะพระอานนทเถระว่า

    “อานนท์ เธอจงให้จัดที่แห่งหนึ่งให้ว่าง ให้แก่อุบาสก”

    พระเถระ ได้กระทำอย่างนั้นแล้ว.ได้ยินว่า พระศาสดา ทรงอนุญาตกัปปิยภูมิแก่จิตตคฤหบดีแล้ว


    ๐ จิตตคฤหบดีเดินทางกลับ

    ฝ่ายอุบาสกกับชนทั้งสามพันคน ซึ่งมาพร้อมกับตน ก็เดินทางกลับด้วยเกวียนเปล่าแล้ว พวกเทวดาก็ได้เนรมิตรัตนะ ๗ ประการบรรจุไว้เต็มเกวียนนั้น

    ในครั้งนั้น พระอานนทเถระ ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า สักการะที่เกิดขึ้นแก่คฤหบดีนั้น จะเกิดเฉพาะเมื่อคฤหบดีนั้นมาเฝ้าพระองค์เท่านั้น หรือแม้ไปในที่อื่นก็เกิดขึ้นเหมือนกัน

    พระศาสดา ตรัสว่า “อานนท์ จิตตคฤหบดีนั้นมาสู่สำนักของเราก็ดี ไป ณ ที่อื่นก็ดี สักการะย่อมเกิดขึ้นทั้งนั้น เพราะอุบาสกนี้เป็นผู้มีศรัทธา เลื่อมใส มีศีลสมบูรณ์ อุบาสกเช่นนี้ ไปประเทศใดๆ ลาภสักการะ ย่อมเกิดแก่เขาในประเทศนั้นๆ ทีเดียว” ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถาว่า

    “ผู้มีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีล เพียบพร้อม
    ด้วยยศ และโภคะ ย่อมคบประเทศใดๆ ย่อมเป็นผู้
    อันเขาบูชาแล้ว ในประเทศนั้นๆ ทีเดียว”


    ๐ ทรงแต่งตั้งเป็นเอตทัคคะผู้เป็นธรรมกถึก

    จิตตคฤหบดีนั้นได้เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในเรื่องการแสดงธรรม โดยมีเรื่องที่เป็นเค้ามูลที่แสดงให้เห็นว่าท่านเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นอยู่หลายเรื่องเช่น

    ท่านได้แสดงธรรมแก้ปัญหาที่เหล่าภิกษุที่อัมพาฏการามได้สงสัยในเรื่อง ธรรมเหล่านี้ คือสังโยชน์ก็ดี สังโยชนียธรรมก็ดี มีอรรถต่างกัน มีพยัญชนะต่างกันหรือว่ามีอรรถเหมือนกัน พยัญชนะเท่านั้นต่างกัน ซึ่งท่านก็ได้แสดงธรรมแก้ข้อสงสัยนั้นจนเป็นที่พอใจของพระสงฆ์เหล่านั้น

    อีกครั้งหนึ่งท่านได้แสดงธรรมโดยละเอียดในเรื่องที่ ท่านพระกามภูอยู่ที่อัมพาฏกวัน ใกล้ราวป่ามัจฉิกาสณฑ์ ได้ขอให้ท่านขยายความภาษิตที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้โดยย่อไว้ว่า

    เธอจงดูรถอันไม่มีโทษ มีหลังคาขาว มีเพลาเดียว ไม่มีทุกข์ แล่นไปถึงที่หมาย ตัดกระแสตัณหาขาด ไม่มีกิเลสเครื่องผูกพัน ฯ

    ซึ่งท่านคฤหบดีก็ได้ขยายให้ท่านพระกามภูฟังจนท่านพระกามภูได้ชมเชย

    ท่านได้แสดงธรรมแก้ปัญหาที่ท่านพระโคทัตตะที่อัมพาฏการามได้สงสัยในเรื่อง ธรรมเหล่านี้ คือ อัปปมาณาเจโตวิมุติ อากิญจัญญาเจโตวิมุติ สูญญตาเจโตวิมุติ และอนิมิตตาเจโตวิมุติ มีอรรถต่างกัน มีพยัญชนะต่างกัน หรือว่า มีอรรถเหมือนกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น ซึ่งท่านก็ได้แสดงธรรมแก้ข้อสงสัยนั้นจนเป็นที่พอใจของท่านพระโคทัตตะ

    ท่านคฤหบดีได้แสดงธรรมให้อเจลกัสสปผู้สหายให้เลื่อมใสพุทธศาสนา จนขอบวชและต่อมาได้เป็นพระอรหันต์

    ท่านคฤหบดีได้แสดงธรรมให้อเจลกัสสปผู้สหายให้เลื่อมใสพุทธศาสนา จนขอบวชและต่อมาได้เป็นพระอรหันต์

    ท่านคฤหบดีได้มีหนังสือพรรณนาพระพุทธคุณส่งไปให้ อิสิทัตตะผู้เป็นสหายที่ไม่เคยเห็นกันของตน จนอิสิทัตตะเกิดความเลื่อมใสในพระศาสดา บวชในสำนักของพระมหากัจจายนเถระ ได้บำเพ็ญวิปัสสนาแล้ว ต่อกาลไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหันต์

    ต่อมาภายหลัง พระศาสดา เมื่อทรงสถาปนาเหล่า อุบาสกไว้ในตำแหน่งต่าง ๆ ตามลำดับ ทรงทำกถาชื่อจิตตสังยุตให้เป็น อัตถุปปัตติเหตุเกิดเรื่อง จึงทรงสถาปนาท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นเลิศกว่าพวกอุบาสก ผู้เป็นธรรมกถึก แล


    ๐ เกิดร่วมสมัยกับพระโพธิสัตว์

    ท่านได้เกิดร่วมชาติกับพระโพธิสัตว์เมื่อครั้งพระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นมหากัญจนดาบส โดยท่านคฤหบดีได้เกิดเป็นทาสในสมัยนั้น ดังที่ปรากฎในภิสชาดก



    .............................................................

    คัดลอกมาจาก ::
    http://www.dharma-gateway.com/


    • Update : 17/4/2554
    © Copyright 2011 www.watbangwaek.com All rights reserved